วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำไมบ้านผมจึงไม่ตอกเสาเข็ม?

ท่านที่กำลังจะสร้างบ้าน หรือ สร้างบ้านไปแล้ว อาจจะมีคำถามคาใจว่า ทำไมบ้านที่กำลังสร้างหรือสร้างเสร็จแล้ว ไม่ได้ตอกเสาเข็มเหมือนอย่างที่เพื่อนๆ เขาบอกหรือได้ยินเขาพูดกันมา... ส่วนใหญ่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในแถบภาพเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ...


หลายท่านคงยังติดภาพบ้านต้องมีเสาเข็ม ความจริงแล้ว ไม่เสมอไปหรอกครับ หากมีวิศวกรคำนวนโครงสร้างแล้ว บอกท่านว่า ไม่จำเป็นต้องมีเสาเข็ม แต่ท่านยังดันทุรังจะให้มี ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองค่าก่อสร้างที่ท่านต้องจ่ายเพิ่มขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ครับ ถ้าบ้านท่านมีการออกแบบโครงสร้างหรือคำนวนโครงสร้างจากวิศวกรแล้วละก็ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ครับ เพราะการที่จะมีเสาเข็มหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพดินที่รับน้ำหนักของตัวบ้านครับ ...
โดยทั่วไปแล้ว น้ำหนักของตัวบ้านท่านทั้งหมด จะถูกถ่ายลงไปที่ฐานราก แล้วฐานรากจะถ่ายน้ำหนักลงสู่ดินอีกทอดหนึ่ง หากวิศวกรคำนวนแล้วว่า ดินที่ฐานรากถ่ายน้ำหนักลงไปสามารถรับน้ำหนักของตัวบ้านได้อย่างปลอดภัยแล้ว ละก็ เป็นอันเสร็จสิ้น หายห่วงครับ โดยปกติแล้วบ้านโดยทั่วไป (ส่วนใหญ่จะเป็นบ้าน 2 ชั้น) วิศวกรจะคาดการณ์เอาไว้ก่อนว่า ฐานรากจะเป็นแบบ "ฐานแผ่" ซึ่งมีขนาดความกว้าง x ความยาว ไม่เกิน 2 x 2 เมตร (ซึ่งขึ้นอยู่กับความกว้างของช่วงเสาและกำลังรับนำหนักของดินใต้ฐานราก) หากคำนวนออกมาแล้ว ได้ขนาดฐานรากมีขนาดที่ใหญ่กว่านี้มาก วิศวกรเขาจะทำการเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นฐานรากที่มีเสาเข็มจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหรือไม่? หากเปรียบเทียบกันแล้ว ฐานรากเสาเข็มมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า วิศวกรจะออกแบบให้เป็นฐานรากเสาเข็มแทนครับ ซึ่งหากถามว่ามันทดแทนกันได้เหรอ? คำตอบคือได้ครับ โดยทางกายภาพแล้วผมจะเปรียบเทียบให้เห็นคร่าวๆ ดังนี้

  1. ฐานรากแผ่ ถ้าเปรียบเทียบโครงสร้างอาคารเดียวกัน จะมีขนาดที่ กว้างและยาวกว่า และต้องขุดดินลึกกว่า (ซึ่งต้องขุดถึงแต่ 1.50 เมตร - 2.00 เมตร) แล้วแต่สภาพดินหน้างานก่อสร้าง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิศวกร หรือจากผลการทดสอบกำลังรับน้ำหนักของดินในบริเวณนั้น  แต่ฐานรากเสาเข็ม จะใช้ขนาดที่เล็กกว่า และ(โดยทั่วไป)ไม่ต้องขุดดินมากเหมือนฐานแผ่  ทำให้สามารถชดเชยกันได้ในส่วนที่ได้เปรียบ / เสียเปรียบ
  1. ฐานรากเสาเข็มจะต้องมีเครื่องจักร / เครื่องมือในการดำเนินการกับการติดตั้งเสาเข็ม ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก และยุ่งยาก ส่วนฐานแผ่ ใช้เครื่องจักร / เครื่องมือน้อย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะน้อยกว่า 





แค่เปรียบเทียบ 2 ข้อนี้ก็จะเห็นว่า ทางเลือกแรกที่วิศวกรจะเลือกในการออกแบบฐานรากคือ ฐานรากแผ่ เพราะเป็นทางเลือกที่ประหยัดที่สุด ยุ่งยากน้อยที่สุด แต่ก็มีความปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงเท่าๆ กัน (ยกเว้น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งฐานรากแผ่ไม่สามารถจะใช้ได้ในพื้นที่เหล่านี้ เพราะสภาพดินเป็นดินเหนียวอ่อน และมีการทรุดตัวสูง ดังนั้นในพื้นที่ส่วนนี้วิศวกรจะออกแบบเป็นฐานรากเสาเข็มทั้งหมด) 

ดังนั้น ท่านที่กังวลกับเรื่อง เหล่านี้ คงไม่ต้องกังวลแล้วนะครับ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น