วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

งานแก้ไขถังบำบัดน้ำเสียของบ้านพักอาศัย งานที่ช่างทุกรายเบือนหน้าหนี !!!

คิดว่า บ้านที่สร้างในสมัยก่อน ๆ คงมีปัญหาเรื่องส้วมกดน้ำไม่ลงหรือราดไม่ลง หรือราดแล้วกว่าจะลงก็ต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าฝน ปัญหานี้ยิ่งจะเห็นชัดเจนมากขึ้น และคิดว่าหลายท่านที่ยังมีบ้านที่สร้างมาแล้วนานๆ ต้องเจอกับปัญหานี้ไม่มากก็น้อย !!!


ตำแหน่งถังบำบัดเดิมของบ้าน จะเห็นฝาเปิดทองเหลืองปิดไว้
ปัญหานี้ จะว่าใหญ่ก็ใหญ่ จะว่าเล็กก็เล็กครับ หากเรารู้ว่าปัญหามาจากอะไร และจะแก้ปัญหายังไง ก็คงจะเป็นเรื่องเล็ก แต่คนที่จะรู้ปัญหานี้ส่วนใหญ่ก็เป็นช่าง แต่ถ้ารู้ลึกและละเอียดแล้วละก็ คงต้องเป็นวิศวกรเท่านั้นละครับ

ผมมีลูกค้ารายหนึ่ง ที่ติดต่อมาให้ผมช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้ โดยแจ้งปัญหาให้ผมทราบว่า ส้วมราดไม่ลง ช่วยแก้ให้หน่อย แหม! เรื่องแบบนี้มันเป็น "เรื่องขี้ ๆ" จริงๆ ครับ ทำไมนะเหรอ? ก็ผมไปดูแล้ว มันมีต้นตอมาจาก ถังส้วมของบ้านหลังนี้ มันเป็นแบบสมัยยุคก่อนที่จะมีถัง SAT. หรือที่เขาเรียกว่า  "ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป" คือมันยังเป็นถังแบบ "บ่อเกอะ บ่อซึม" อยู่ครับ แล้วข้อเสียของระบบนี้มันคืออะไรนะเหรอครับ?

ข้อเสียของระบบเก่า หรือระบบ บ่อเกอะ บ่อซึม ก็คือ มันไม่กันน้ำครับ เพราะมันออกแบบมาให้น้ำสามารถซึมออกมาจากด้านในถังได้ ซึ่งจะดีมากในพื้นที่สูง และมีระดับน้ำใต้ดินที่อยู่ต่ำ แต่หากว่าระดับน้ำใต้ดินสูงเกือบเท่ากับระดับดิน พูดง่ายๆ คือหากเราขุดดินลงไปเพียงนิดหน่อยก็มีน้ำไหลออกมาให้เห็น มันจะกลายเป็นข้อเสียอย่างยิ่งใหญ่ทันที เพราะการที่น้ำสามารถไหลซึมออกจากด้านในถังก็หมายความว่า น้ำก็สามารถซึมเข้าไปในถังได้เช่นกัน แล้วปัญหาของการที่น้ำซึมเข้าไปในถังได้ มีข้อเสียยังไงเหรอครับ? มันก็ทำให้ถังเต็มนะสิครับ ถังเต็มก็ทำให้กดน้ำจากชักโครกไม่ลง หรือราดน้ำไม่ลงครับ นั่นแหละคือปัญหา และปัญหานี้จะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนก็ตอนหน้าฝน เพราะหน้าฝนมันมีน้ำใต้ดินเยอะยังไงละครับ!!!



ทีมหน่วยเฉพาะกิจ ขุดบ่อเกอะโดยไม่รังเกียจส่ิงปฏิกูล 
น่านับถือจริงๆ
 แล้วเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้มั๊ย? คำตอบคือ "ได้ครับ" โดยการเปลี่ยนจากระบบเก่ามาเป็นระบบถัง สำเร็จรูป หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ถัง SAT" นั่นแหละครับ ทีนี้ความยากมันก็อยู่ตรงที่ว่า จะเปลี่ยนยังไง? นั่นแหละครับ

การที่เราจะให้ใครมาขุดหลุมส้วมให้เรา แล้วเปลี่ยนเอาถังบำบัดสำเร็จรูปยัดลงไปแทน มันคงไม่ใช่เรื่องง่าย... แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะยากเสียจนหาไม่ได้ ผมเองก็มึนอยู่พักใหญ่ๆ เลยครับ เรื่องแบบนี้ มันทางใคร ทางมัน ครับ ในที่สุดผมก็เจอกับ "หน่วยเฉพาะกิจ" หน่วยนี้เข้าจนได้ แต่อัตราค่าตัวของหน่วยนี้ ผมขอบอกเลยนะครับว่า แพงสุด ๆ ไม่จ้างก็ไม่ได้ เพราะไมมีใครเขาทำให้ ชุดหน่วยเฉพาะกิจที่ว่านี้ ทำงานให้เราแบบคุ้มจริงๆ สมราคาที่จ้างครับ

เขาจะทำการสูบปฏิกูลในหลุมออก ล้างแล้วขุดหลุมให้กว้าง และลึกเพียงพอที่จะนำเอาถังบำบัดสำเร็จรูปลงติดตั้ง (ตามรูปแบบที่เรากำหนด) ให้เสร็จสรรพ โดยเราต้องมีวิศวกร หรือช่างชำนาญงานคอยตรวจสอบ ควบคุมอยู่ด้วยนะครับ  เพื่อให้แน่ใจว่า แนวและระดับที่น้ำจากส้วมสามารถไหลเข้าได้ และไหลออกได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ หากติดตั้งระดับไม่ถูกต้อง จะเจอกับปัญหาน้ำจากส้วมไหลเข้าไม่ได้ (ในกรณีที่ระดับสูงเกินไป ทำให้กากจากส้วมไหลไม่สะดวกและอุดตันในที่สุด) หรือ น้ำไหลออกจากถังบำบัดไม่ได้ ในกรณี ท่อน้ำออกต่ำกว่าระดับน้ำทิ้ง ซึ่งจะทำให้น้ำไหลเข้าถังแทนที่จะไหลออก...

โดยธรรมดาแล้ว ในการติดตั้งถังบำบัดสำเร็จรูปทั่วๆ ไป เราจะต้องทำฐานรากรองรับถังก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรุดตัวหรือเอียงตัวของถังหลังจากติดตั้งไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ท่อที่เชื่อมต่อกับถังหลุดจากจุดเชื่อมต่อ.. แต่ในกรณีนี้ เราคงไม่สามารถจะเตรียมการอย่างนั้นได้ทัน เพราะต้องทำการขุดและติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว (ก็มันต้องใช้งานครับ) แต่มันก็มีวิธีการที่จะทำให้ไม่เกิดการทรุดตัวของถังฯ แทนซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ (ช่างเขาไม่อนุญาตให้เผยแพร่ ซึ่งเห็นแล้วก็ทึ่งในไอเดียนี้พอสมควร)

หลังจากที่ได้หลุมตามขนาดที่เรากำหนด ก็จะนำถังลงติดตั้ง (โดยตั้งบนฐานรากที่ดัดแปลงตามไอเดียที่กล่าวไว้ข้างต้น) เติมน้ำลงให้เต็มถังก่อนถมดินด้านข้าง เพื่อไม่ให้แรงดันดินทำให้ถังแตก แต่ก่อนที่เราจะถมดินด้านข้าง ต้องทำการตรวจสอบระดับถัง แนวน้ำเข้าและน้ำออกของถังให้ถูกต้อง รวมถึงดิ่งของถังด้วยนะครับ ว่าถูกต้อง และเป็นไปตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นก็จะต้องตามแก้ปัญหาภายหลังอีก...


หลังจากนั้นก็ ต่อท่อน้ำเข้าจากส้วม และต่อท่อน้ำออก ให้เรียบร้อย ซึ่งงานส่วนนี้ จะเป็นงานของช่างอีกชุดครับ เพราะหน่วยเฉพาะกิจ ชุดนี้จะไม่รวมงานพวกนี้เข้าในขอบเขตของงานด้วย ซึ่งเราต้องมีช่างหรือวิศวกรคอยตรวจสอบงาน ต่อช่วงเหล่านี้ด้วยนะครับ หากส่วนนี้กลายเป็นงานที่ไม่รวมในขอบเขตใคร หรือไม่มีใครรับผิดชอบ เจ้าของบ้านก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก เพื่อจ้างงานในส่วนนี้อีกทอดหนึ่ง

งานในส่วนนี้ เป็นงานที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากทำ เพราะเป็นงานที่ต้องอยู่กับปฏิกูล ดังนั้น จะไม่มีช่างที่ไหนอยากทำ หรือถ้ารับทำก็จะรับทำในราคาที่สูงลิบลิ่ว ครับ แต่หากทำเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านก็เบาใจได้เลย ว่าปัญหาเรื่องส้วมกดไม่ลงจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป.....





2 ความคิดเห็น:

  1. ขอชื่อกับเบอร์ติดต่อได้ไหมครับ ที่บ้านมีปัญหาเหมือนกัน ช่างที่มาดูบอกว่าข้างในถังแซท มีพวกเศษหิน ดินเข้าไปอยู่ข้างในเยอะแยะ ทำให้เวลากดน้ำไม่ค่อยลง แล้วยังเอ่อกลับขึ้นมาด้วยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่น่าจะเป็นไปได้นะครับ ถ้าฝาถังไม่เปิดทิ้งไว้ จนมีของตกลงไปได้ ลักษณะอย่างนี้น่าจะเกิดจากการที่ถังแซท แตกจนน้ำข้างนอกไหลเข้าไปข้างในถังได้ จนทำให้ระดับน้ำในถังสูงเกินกว่าระด้บน้ำในบ้านไหลเข้าสู่ถังแซทได้ (ลักษณะคล้ายส้วมเต็มนะครับ) ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นกับส้วมที่ใช้ระบบถังแซท แต่ถ้าต้องการรายละเอียด โทร. 084 985 6910 หรือ line theerapol1206 นะครับ

      ลบ