วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เกี่ยวกับถังบำบัดน้ำเสีย

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่เดือดร้อนเนื่องจากปัญหาเรื่องเกี่ยวกับถังบำบัดน้ำเสียเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก จนไม่อยากจะเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย หรือหอพัก หรืออื่นๆที่ผมได้รับแจ้งเพื่อขอให้ช่วยแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาให้

ปัญหาที่ผมได้รับทราบบ่อยๆ และรู้สึกจะมากกว่าเรื่องอื่นๆ คือ เรื่องของถังบำบัดเต็ม ส้วมกดน้ำ (flush)ไม่ลง และจากที่ผมได้ตรวจสอบดูจากข้อมูลที่แจ้งให้ผมดู รู้สักว่าจะมีที่มาของปัญหาจากสาเหตุเดียวกันทั้งสิ้น คือ

  1. ระดับท่อระบายน้ำทิ้งจากถังบำบัด อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำที่ปลายท่อที่ระบายออก ซึ่งแทนที่น้ำจะไหลออกจากถังฯ กลับทำให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าถัง ทำให้ถังฯ มีน้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ "ส้วมเต็ม"  อ้าว.. แล้วทำไม่เพิ่งเกิดล่ะ ทำไม่ไม่เกิดตั้งแต่ที่เจ้าของบ้านย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านใหม่ ๆ คำตอบคือ ของคำถามนี้ คือ ถังของคุณมันทรุดนั่นครับ นานๆ หลายปีเข้าถังบำบัดฯ ทรุดลงจากที่ช่างได้ทำไว้ตั้งแต่คราวแรก ถามต่อว่าทำไม่มันทรุด? คำตอบคือ ช่างเขาไม่ได้วางถังฯ ของบ้านคุณไว้บนฐานหรือโครงสร้างที่ดีพอ ซึ้งปกติต้องวางบนฐานรากที่มีเสาเข็มรองรับ (อย่างน้อยก็ เสาเข็มคอนกรีตหกเหลี่ยมยาว 3-6 เมตร ส่วนจำนวนแล้วแต่ขนาดของถังฯ) พอนานวันเข้าทำให้ถังเกิดอาการทรุดตำ่กว่าระดับที่มันควรจะอยู่
  2. ถังบำบัดแตก อาการนี้ก็เห็นบ่อยครับ จากที่มีคนได้โทรเข้ามาปรึกษา แตกในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดินซะด้วย ทำให้น้ำไหลซึมเข้าถังฯ ถังฯ จึงเต็มตลอดเวลา ปัญหาส่วนใหญ่จะเห็นได้ในช่วงฤดูที่มีน้ำรอบๆบริเวณนั้นมีตลอดเวลาหรือพูดง่ายๆคือฤดูฝน แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งหรือน้ำรอบๆถังฯ แห้งจะไม่ค่อยเกิดปัญหา  ปัญหานี้แก้ได้ง่ายสุดจนถึงยากสุดครับ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยแตกและอาการของของรอยแตก
  3. อีกปัญหาหาหนึ่ง อันนี้ผมคาดคะเนเอาครับ คือสภาพแวดล้อมของพื้นที่ของบ้านมันเปลี่ยนไป จากพื้นที่น้ำไม่เคยท่วมเลย แต่ช่วงหลังๆ กลับกลายเป็นว่า ฝนตกนิดๆหน่อยน้ำก็ท่วมกันทั้งหมู่บ้าน แบบนี้แก้ลำบากหน่อยครับ ต้องปรับปรุงกันเยอะ มีรายหนึ่งต้องยกพื้นห้องน้ำชั้นล่างใหม่ทั้งหมดเลย
แต่ไม่ว่าจะอาการแบบไหน หากว่าเราเข้าใจธรรมชาติของมันแล้ว เราสามารถแก้ปัญหาได้ครับ แต่ต้องแก้ให้จากสาเหตุจริงๆ บางรายถูกหลอกต้องจ่ายเงินก้อนโตเพื่อแก้ไข แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหมดไป 

ผมแจ้งกับทุกรายที่โทรหา ว่า "ผมไม่ได้รับเหมาแก้ไขปัญหา แต่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ฟรี" ครับ เมื่อก่อนรับเหมาเรื่องนี้ครับ แต่ตอนนี้ผมไม่มีเวลา แต่เข้าใจว่าคนที่มีปัญหาเรื่องนี้มันทุกข์เพราะเคยเจอกับตัวเอง จึงอยากช่วยทุกคนที่เจอกับปัญหานี้ 

และผมต้องขออภัยกับบางรายที่โทรเข้ามาหรือฝาก line ไว้แล้วผมไม่ได้ตอบกลับ เนื่องจากมีงานที่ค่อนข้างจะรัดตัว บางทีทำให้ลืมไปเลย กว่าจะนึกขึ้นได้ก็ผ่านไปหลายวัน หากไม่มี feedback จากผมในช่วงเวลาหนึ่ง รบกวนแจ้งเตือนผมได้เลยนะครับ ยินดีช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำไมบ้านผมจึงไม่ตอกเสาเข็ม?

ท่านที่กำลังจะสร้างบ้าน หรือ สร้างบ้านไปแล้ว อาจจะมีคำถามคาใจว่า ทำไมบ้านที่กำลังสร้างหรือสร้างเสร็จแล้ว ไม่ได้ตอกเสาเข็มเหมือนอย่างที่เพื่อนๆ เขาบอกหรือได้ยินเขาพูดกันมา... ส่วนใหญ่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในแถบภาพเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ...


หลายท่านคงยังติดภาพบ้านต้องมีเสาเข็ม ความจริงแล้ว ไม่เสมอไปหรอกครับ หากมีวิศวกรคำนวนโครงสร้างแล้ว บอกท่านว่า ไม่จำเป็นต้องมีเสาเข็ม แต่ท่านยังดันทุรังจะให้มี ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองค่าก่อสร้างที่ท่านต้องจ่ายเพิ่มขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ครับ ถ้าบ้านท่านมีการออกแบบโครงสร้างหรือคำนวนโครงสร้างจากวิศวกรแล้วละก็ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ครับ เพราะการที่จะมีเสาเข็มหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพดินที่รับน้ำหนักของตัวบ้านครับ ...
โดยทั่วไปแล้ว น้ำหนักของตัวบ้านท่านทั้งหมด จะถูกถ่ายลงไปที่ฐานราก แล้วฐานรากจะถ่ายน้ำหนักลงสู่ดินอีกทอดหนึ่ง หากวิศวกรคำนวนแล้วว่า ดินที่ฐานรากถ่ายน้ำหนักลงไปสามารถรับน้ำหนักของตัวบ้านได้อย่างปลอดภัยแล้ว ละก็ เป็นอันเสร็จสิ้น หายห่วงครับ โดยปกติแล้วบ้านโดยทั่วไป (ส่วนใหญ่จะเป็นบ้าน 2 ชั้น) วิศวกรจะคาดการณ์เอาไว้ก่อนว่า ฐานรากจะเป็นแบบ "ฐานแผ่" ซึ่งมีขนาดความกว้าง x ความยาว ไม่เกิน 2 x 2 เมตร (ซึ่งขึ้นอยู่กับความกว้างของช่วงเสาและกำลังรับนำหนักของดินใต้ฐานราก) หากคำนวนออกมาแล้ว ได้ขนาดฐานรากมีขนาดที่ใหญ่กว่านี้มาก วิศวกรเขาจะทำการเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นฐานรากที่มีเสาเข็มจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหรือไม่? หากเปรียบเทียบกันแล้ว ฐานรากเสาเข็มมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า วิศวกรจะออกแบบให้เป็นฐานรากเสาเข็มแทนครับ ซึ่งหากถามว่ามันทดแทนกันได้เหรอ? คำตอบคือได้ครับ โดยทางกายภาพแล้วผมจะเปรียบเทียบให้เห็นคร่าวๆ ดังนี้

  1. ฐานรากแผ่ ถ้าเปรียบเทียบโครงสร้างอาคารเดียวกัน จะมีขนาดที่ กว้างและยาวกว่า และต้องขุดดินลึกกว่า (ซึ่งต้องขุดถึงแต่ 1.50 เมตร - 2.00 เมตร) แล้วแต่สภาพดินหน้างานก่อสร้าง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิศวกร หรือจากผลการทดสอบกำลังรับน้ำหนักของดินในบริเวณนั้น  แต่ฐานรากเสาเข็ม จะใช้ขนาดที่เล็กกว่า และ(โดยทั่วไป)ไม่ต้องขุดดินมากเหมือนฐานแผ่  ทำให้สามารถชดเชยกันได้ในส่วนที่ได้เปรียบ / เสียเปรียบ
  1. ฐานรากเสาเข็มจะต้องมีเครื่องจักร / เครื่องมือในการดำเนินการกับการติดตั้งเสาเข็ม ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก และยุ่งยาก ส่วนฐานแผ่ ใช้เครื่องจักร / เครื่องมือน้อย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะน้อยกว่า 





แค่เปรียบเทียบ 2 ข้อนี้ก็จะเห็นว่า ทางเลือกแรกที่วิศวกรจะเลือกในการออกแบบฐานรากคือ ฐานรากแผ่ เพราะเป็นทางเลือกที่ประหยัดที่สุด ยุ่งยากน้อยที่สุด แต่ก็มีความปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงเท่าๆ กัน (ยกเว้น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งฐานรากแผ่ไม่สามารถจะใช้ได้ในพื้นที่เหล่านี้ เพราะสภาพดินเป็นดินเหนียวอ่อน และมีการทรุดตัวสูง ดังนั้นในพื้นที่ส่วนนี้วิศวกรจะออกแบบเป็นฐานรากเสาเข็มทั้งหมด) 

ดังนั้น ท่านที่กังวลกับเรื่อง เหล่านี้ คงไม่ต้องกังวลแล้วนะครับ....

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

ฐานรากชิดเขตที่ดิน ส่ิงที่เจ้าของบ้านหลายคนไม่เข้าใจ

"ทำไม เสาของเสาต้นนั้น ไม่ขึ้นตรงกลางฐานราก? ...มันจะพังมั๊ย?" ผมเจอคำถามของลูกค้าของผมรายหนึ่ง ที่ว่าจ้างผมช่วยต่อเติมบ้านให้ โดยต่อกับบ้านหลังเดิมในที่ดินผืนเดียวกัน.. ผมต้องอธิบายภาษาช่างให้เป็นภาษาที่คนที่ไม่ใช่ช่างให้เข้าใจ ก็ต้องเหนื่อยกันพักใหญ่..

คือธรรมดาแล้ว ฐานรากจะเป็นตัวรับแรงทั้งหมดของตัวอาคารตัวสุดท้ายแล้วถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงสู่ดินอีกที ในกรณีที่เป็นฐานรากแบบไม่มีเสาเข็ม หรือภาษาช่างเขาเรียกว่า "ฐานแผ่" แต่ถ้าฐานรากเสาเข็ม ฐานรากจะถ่ายน้ำหนักลงเสาเข็ม แล้วเสาเข็มจะเป็นตัวถ่ายแรงทั้งหมดลงดินอีกทอดหนึ่ง ซึ่งบ้านของเราจะเป็นฐานรากแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า สภาพของดินที่จะปลุกส่ิงก่อสร้างนั้นมีสภพาเป็นอย่างไร ส่วนนี้วิศวกรจะเป็นผู้วิเคราะห์ให้เราเองครับ

โดยส่วนมาก เสาที่ต่อกับฐานรากขึ้นมา จะอยู่ตรงกลางของฐานรากพอดี หรืออยู่ในจุดที่สมมาตรกับฐานราก เพื่อให้การถ่ายน้ำหนักของฐานรากสามารถถ่ายลงดินได้สม่ำเสมอกันทั่วทั้งฐานราก (ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่สม่ำเสมอ เพราะอาจจะมีแรงดัด หรือโมเม้นต์ของเสามาด้วย ซึ่งวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างจะทำการวิเคราะห์ ออกแบบให้เราอยู่แล้ว) แต่ในกรณีที่ตำแหน่งเสาต้องอยู่ตรงแนวชิดเขตที่ดิน มันจะทำให้ไม่สามารถทำให้เสาอยู่ในตำแหน่งกลางของฐานรากได้ ซึ่งในกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยในกรณีที่มีการต่อเติมบ้านในพื้นทีที่จำกัด (ผมจะพูดเฉพาะบ้านพักอาศัยนะครับ)


ลักษณะการทำคานรั้งหรือ Strap Beam
ดังนั้นส่ิงที่เจ้าของบ้านจะเห็นคือช่างผูกเหล็กเสาไม่ตรงตำแหน่งกลางของฐานราก แล้วจะเกิดความกังวล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ เพราะเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า จะตั้งเสาอย่างนั้นแล้วไม่ได้แก้ไขอะไรเลยนะครับ

ส่ิงที่วิศวกรจะทำคือ การทำคานรั้งฐานรากของต้นที่เสาตั้งไม่ถูกตำแหน่ง ไปหากับฐานรากที่อยู่ตรงข้ามกับฐานรากตัวนั้น เพื่อให้เกิดการสมดุลแรงที่กระทำกับฐานรากครับ

คานตัวนี้จะออกแบบมาให้ทำกดฐานรากต้นที่อยู่ชิดแนวเขตที่ดิน ไม่ให้ถูกดินที่อยู่ใต้ฐานราก ดันยกขึ้นมาหรือที่เราเรียกว่า กระดกขึ้นมา ซึ่งหากฐานรากกระดกขึ้นมาได้ จะทำให้เกิดแรงดัดที่ตีนเสา และแรงนี้แหละครับที่จะทำให้เสาต้นชิดแนวเขตที่ดินหักที่ตำแหน่งดังภาพ Sketch ด้านล่างนี้ครับ ซึ่งแน่นอนครับ คานตัวนี้ต้องวิศวกรต้องวิเคาระห์ และออกแบบมาให้สามารถทำอย่างที่ว่าได้ ซึ่งจะคาดคะเนเอาเองไม่ได้ครับ


หากไม่มีคานรั้ง จะทำให้เสาต้นชิดแนวเขตที่ดินหักได้
ดังนั้น ในคำถามที่ว่า "จะพังมั๊ย?" คำตอบก็คือ ถ้าทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาช่าง ก็ไม่ต้องห่วงครับ ทำได้ครับ และก็มีคนที่ทำมาแล้วเยอะแยะ แต่ขอให้มีวิศวกรดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยนะครับ เพราะเรื่องแบบนี้ จะให้ช่างรับเหมาชาวบ้านทั่วไป กะเกณฑ์เอาเองไม่ได้

อ้อ อีกประการหนึ่งนะครับ ภาพที่ผมลงให้ดูเป็นภาพที่น้ำท่วมเกือบเต็มหลุมฐานราก ในกรณีนี้จะเห็นได้ทั่วไปครับ แต่ต้องกำชับให้ช่างสูบน้ำออกให้แห้งก่อนแล้วค่อยเทคอนกรีตฐานรากนะครับ เพราะน้ำจะทำให้กำลังของคอนกรีตลดลง ถึงแม้ช่างหลายคนบอกว่า ไม่เป็นไร คอนกรีตสามารถแข็งตัวในน้ำได้ ใช่ครับ แต่น้ำจะทำให้สัดส่วนของน้ำและซีเมนต์ มันไม่เป็นไปตามที่วิศวกรออกแบบมา และอีกประการหนึ่ง มันทำงานยากครับ เทคอนกรีตในน้ำ มันไม่สามารถรู้ได้ว่า ระดับเทอยู่ที่ตรงไหน และปาดหน้าปูนไม่ได้ครับ ถึงแม้จะมีช่างบางคน บอกว่าทำได้ แต่อย่าให้ทำเลยครับ เพราะสุดท้าย คุณภาพงานที่เราจะรับมา มันไม่ได้ตามที่วิศวกรเขาต้องการ และเสี่ยงต่อการวิบัติของอาคารของเราด้วยครับ.....

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

งานแก้ไขถังบำบัดน้ำเสียของบ้านพักอาศัย งานที่ช่างทุกรายเบือนหน้าหนี !!!

คิดว่า บ้านที่สร้างในสมัยก่อน ๆ คงมีปัญหาเรื่องส้วมกดน้ำไม่ลงหรือราดไม่ลง หรือราดแล้วกว่าจะลงก็ต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าฝน ปัญหานี้ยิ่งจะเห็นชัดเจนมากขึ้น และคิดว่าหลายท่านที่ยังมีบ้านที่สร้างมาแล้วนานๆ ต้องเจอกับปัญหานี้ไม่มากก็น้อย !!!


ตำแหน่งถังบำบัดเดิมของบ้าน จะเห็นฝาเปิดทองเหลืองปิดไว้
ปัญหานี้ จะว่าใหญ่ก็ใหญ่ จะว่าเล็กก็เล็กครับ หากเรารู้ว่าปัญหามาจากอะไร และจะแก้ปัญหายังไง ก็คงจะเป็นเรื่องเล็ก แต่คนที่จะรู้ปัญหานี้ส่วนใหญ่ก็เป็นช่าง แต่ถ้ารู้ลึกและละเอียดแล้วละก็ คงต้องเป็นวิศวกรเท่านั้นละครับ

ผมมีลูกค้ารายหนึ่ง ที่ติดต่อมาให้ผมช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้ โดยแจ้งปัญหาให้ผมทราบว่า ส้วมราดไม่ลง ช่วยแก้ให้หน่อย แหม! เรื่องแบบนี้มันเป็น "เรื่องขี้ ๆ" จริงๆ ครับ ทำไมนะเหรอ? ก็ผมไปดูแล้ว มันมีต้นตอมาจาก ถังส้วมของบ้านหลังนี้ มันเป็นแบบสมัยยุคก่อนที่จะมีถัง SAT. หรือที่เขาเรียกว่า  "ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป" คือมันยังเป็นถังแบบ "บ่อเกอะ บ่อซึม" อยู่ครับ แล้วข้อเสียของระบบนี้มันคืออะไรนะเหรอครับ?

ข้อเสียของระบบเก่า หรือระบบ บ่อเกอะ บ่อซึม ก็คือ มันไม่กันน้ำครับ เพราะมันออกแบบมาให้น้ำสามารถซึมออกมาจากด้านในถังได้ ซึ่งจะดีมากในพื้นที่สูง และมีระดับน้ำใต้ดินที่อยู่ต่ำ แต่หากว่าระดับน้ำใต้ดินสูงเกือบเท่ากับระดับดิน พูดง่ายๆ คือหากเราขุดดินลงไปเพียงนิดหน่อยก็มีน้ำไหลออกมาให้เห็น มันจะกลายเป็นข้อเสียอย่างยิ่งใหญ่ทันที เพราะการที่น้ำสามารถไหลซึมออกจากด้านในถังก็หมายความว่า น้ำก็สามารถซึมเข้าไปในถังได้เช่นกัน แล้วปัญหาของการที่น้ำซึมเข้าไปในถังได้ มีข้อเสียยังไงเหรอครับ? มันก็ทำให้ถังเต็มนะสิครับ ถังเต็มก็ทำให้กดน้ำจากชักโครกไม่ลง หรือราดน้ำไม่ลงครับ นั่นแหละคือปัญหา และปัญหานี้จะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนก็ตอนหน้าฝน เพราะหน้าฝนมันมีน้ำใต้ดินเยอะยังไงละครับ!!!



ทีมหน่วยเฉพาะกิจ ขุดบ่อเกอะโดยไม่รังเกียจส่ิงปฏิกูล 
น่านับถือจริงๆ
 แล้วเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้มั๊ย? คำตอบคือ "ได้ครับ" โดยการเปลี่ยนจากระบบเก่ามาเป็นระบบถัง สำเร็จรูป หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ถัง SAT" นั่นแหละครับ ทีนี้ความยากมันก็อยู่ตรงที่ว่า จะเปลี่ยนยังไง? นั่นแหละครับ

การที่เราจะให้ใครมาขุดหลุมส้วมให้เรา แล้วเปลี่ยนเอาถังบำบัดสำเร็จรูปยัดลงไปแทน มันคงไม่ใช่เรื่องง่าย... แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะยากเสียจนหาไม่ได้ ผมเองก็มึนอยู่พักใหญ่ๆ เลยครับ เรื่องแบบนี้ มันทางใคร ทางมัน ครับ ในที่สุดผมก็เจอกับ "หน่วยเฉพาะกิจ" หน่วยนี้เข้าจนได้ แต่อัตราค่าตัวของหน่วยนี้ ผมขอบอกเลยนะครับว่า แพงสุด ๆ ไม่จ้างก็ไม่ได้ เพราะไมมีใครเขาทำให้ ชุดหน่วยเฉพาะกิจที่ว่านี้ ทำงานให้เราแบบคุ้มจริงๆ สมราคาที่จ้างครับ

เขาจะทำการสูบปฏิกูลในหลุมออก ล้างแล้วขุดหลุมให้กว้าง และลึกเพียงพอที่จะนำเอาถังบำบัดสำเร็จรูปลงติดตั้ง (ตามรูปแบบที่เรากำหนด) ให้เสร็จสรรพ โดยเราต้องมีวิศวกร หรือช่างชำนาญงานคอยตรวจสอบ ควบคุมอยู่ด้วยนะครับ  เพื่อให้แน่ใจว่า แนวและระดับที่น้ำจากส้วมสามารถไหลเข้าได้ และไหลออกได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ หากติดตั้งระดับไม่ถูกต้อง จะเจอกับปัญหาน้ำจากส้วมไหลเข้าไม่ได้ (ในกรณีที่ระดับสูงเกินไป ทำให้กากจากส้วมไหลไม่สะดวกและอุดตันในที่สุด) หรือ น้ำไหลออกจากถังบำบัดไม่ได้ ในกรณี ท่อน้ำออกต่ำกว่าระดับน้ำทิ้ง ซึ่งจะทำให้น้ำไหลเข้าถังแทนที่จะไหลออก...

โดยธรรมดาแล้ว ในการติดตั้งถังบำบัดสำเร็จรูปทั่วๆ ไป เราจะต้องทำฐานรากรองรับถังก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรุดตัวหรือเอียงตัวของถังหลังจากติดตั้งไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ท่อที่เชื่อมต่อกับถังหลุดจากจุดเชื่อมต่อ.. แต่ในกรณีนี้ เราคงไม่สามารถจะเตรียมการอย่างนั้นได้ทัน เพราะต้องทำการขุดและติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว (ก็มันต้องใช้งานครับ) แต่มันก็มีวิธีการที่จะทำให้ไม่เกิดการทรุดตัวของถังฯ แทนซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ (ช่างเขาไม่อนุญาตให้เผยแพร่ ซึ่งเห็นแล้วก็ทึ่งในไอเดียนี้พอสมควร)

หลังจากที่ได้หลุมตามขนาดที่เรากำหนด ก็จะนำถังลงติดตั้ง (โดยตั้งบนฐานรากที่ดัดแปลงตามไอเดียที่กล่าวไว้ข้างต้น) เติมน้ำลงให้เต็มถังก่อนถมดินด้านข้าง เพื่อไม่ให้แรงดันดินทำให้ถังแตก แต่ก่อนที่เราจะถมดินด้านข้าง ต้องทำการตรวจสอบระดับถัง แนวน้ำเข้าและน้ำออกของถังให้ถูกต้อง รวมถึงดิ่งของถังด้วยนะครับ ว่าถูกต้อง และเป็นไปตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นก็จะต้องตามแก้ปัญหาภายหลังอีก...


หลังจากนั้นก็ ต่อท่อน้ำเข้าจากส้วม และต่อท่อน้ำออก ให้เรียบร้อย ซึ่งงานส่วนนี้ จะเป็นงานของช่างอีกชุดครับ เพราะหน่วยเฉพาะกิจ ชุดนี้จะไม่รวมงานพวกนี้เข้าในขอบเขตของงานด้วย ซึ่งเราต้องมีช่างหรือวิศวกรคอยตรวจสอบงาน ต่อช่วงเหล่านี้ด้วยนะครับ หากส่วนนี้กลายเป็นงานที่ไม่รวมในขอบเขตใคร หรือไม่มีใครรับผิดชอบ เจ้าของบ้านก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก เพื่อจ้างงานในส่วนนี้อีกทอดหนึ่ง

งานในส่วนนี้ เป็นงานที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากทำ เพราะเป็นงานที่ต้องอยู่กับปฏิกูล ดังนั้น จะไม่มีช่างที่ไหนอยากทำ หรือถ้ารับทำก็จะรับทำในราคาที่สูงลิบลิ่ว ครับ แต่หากทำเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านก็เบาใจได้เลย ว่าปัญหาเรื่องส้วมกดไม่ลงจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป.....





แก้ไข ซ่อมแซมบ้าน ที่ไม่ทำให้กลายเป็นงานบานปลาย

วัสดีครับ !!!
ทักทายกันครั้งแรกของ Blog นี้นะครับ ในบทความนี้ผมจะขอเล่าประสพการณ์ในการที่เราต้องจ้างผู้รับเหมามาแก้ไขและต่อเติมบ้านของเราที่อยู่มานานหลายสิบปี ที่ดูแล้วเก่าและไม่ค่อยเจริญหูเจริญตาของเราที่เป็นเจ้าของบ้านเท่าไหร่ ให้กลายเป็นบ้านที่ดูเป็นบ้านอย่างที่เราต้องการ ซึ่งผมอยากจะแนะนำท่านที่กำลังต้องการอยากทำให้ทราบไว้ เผื่อจะช่วยให้เราจะได้ไม่ต้องเสียเปรียบช่างผู้รับเหมา หรือไม่ต้องกลายเป็นคนเขี้ยวฯ ในสายตาผู้รับเหมา จนทำให้ผู้รับเหมาทิ้งงานไป ...เสียทั้งสองฝ่ายครับ...

ในการแก้ไข ซ่อมแซมบ้าน จะไม่เหมือนการสร้างบ้านใหม่นะครับ ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเราจะไปเปรียบเทียบกับการค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกันกับการสร้างบ้านใหม่ไม่ได้ เพราะการซ่อมแซมแก้ไข จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะว่าการแก้ไขจะมีการทำงานมากกว่าการสร้างใหม่ ถึง 3 เท่า ยังไงใช่มั๊ย? ก็คือต้องการรื้อของเดิมออกก่อน พร้อมกับการขนทิ้ง และการเริ่มต้นทำใหม่ และค่าดำเนินการในการแก้ไข ซ่อมแซมจะมากกว่าปกติประมาณเกือบเท่าตัว เพราะจะมีงานในการเตรียมการ การป้องกันของใช้ในภายในบ้านจะเสียหายจากการทำงานของช่าง ยิ่งเป็นถ้าหากในช่วงการทำงาน เจ้าของบ้านยังต้องอาศัยในบ้านด้วยแล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งจะไม่เหมือนการทำใหม่ ซึ่งสามารถเร่ิมในขั้นตอนการก่อสร้างได้เลย


ผมจะยกตัวอย่างการแก้ไข ซ่อมแซมบ้านหลังหนึ่งให้ดูนะครับ บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียว เจ้าของอาศัยมาเป็นเวลานานกว่ายี่สิบปีแล้ว พอมาถึงเวลานี้ รู้สึกว่า บ้านของตัวเอง มันดูไม่เหมือนบ้านเพื่อนบ้านเท่าไหร่แล้ว เพราะเขาปลูกสร้างกันใหม่ ด้วยวัสดุและเทคโนโลยี่สมัยใหม่กัน จึงต้องการที่จะ Upgrade เล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ดูทันสมัยกับเขาบ้าง !!!



สภาพเดิมของบ้านก่อนที่จะทำการซ่อมแซ่มแก้ไข
มาดูกันครับ...  ผมจะขอยกตัวอย่างเพียงส่วนเดียวนะครับ คือส่วนห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น เดิมส่วนนี้จะมีหน้าต่างเป็นบานไม้เปิด / ปิดโดยการผลักออก ค้างไว้ 2 ชุด ฝ้าเพดานเป็นยิบซั่มบอร์ดฉาบรอยต่อเรียบธรรมดา ไม่มีการยกระดับหรือเล่นระดับแต่อย่างใด พื้นปูด้วยกระเบื้อง 12"x12" ธรรมดาทั่วไป 

ส่ิงที่เจ้าของบ้านต้องการคือ:
  1. เปลี่ยนหน้าต่างให้เป็นหน้าต่าง กระจก / อลูมิเนียม บานเลื่อน (Spec. ของวัสดุจะไม่ขอพูดถึงนะครับ) 1 บาน และอีกบานจะเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อน กระจก / อลูมิเนียม เต็มพื้นที่ช่วงเสา (ดูรูปประกอบด้านล่าง) 
  2. ทำฝ้าเพดานใหม่ ให้ดูสูงขึ้น โดยการยกเล่นระดับเป็นหลุมด้านใน ติดตั้งโคมระย้า ให้ดูสวยงาม
  3. ปูกระเบื้องใหม่ ให้ดูหรูหราขึ้นกว่าเดิม ซึ่งช่างแนะนำให้เป็นกระเบื้องตัดขอบสีอ่อน ขนาด 50x50 ซม. 
  4. ทาสีใหม่ รวมทั้ง ทำสีบานประตูเดิม และวงกบประตูเดิม (ซึ่งเป็นไม้) 
ส่ิงที่เจ้าของบ้านคิด คือ.. งานที่จะทำ ไม่มีอะไรมากเลย แค่ย้ายหน้าต่าง และปูกระเบื้องทับไปเลย และก็ทาสีใหม่  ไม่มีอะไรมากเลย งานคงไม่แพง


สภาพของบ้านหลังจากที่ได้แก้ไขแล้ว โดยการเพปลี่ยนหน้าต่างเป็นบานกระจก / อลูมิเนี่ยม และเปลี่ยนหน้าต่างอีกบานให้เป็นประตูออกไปนอกตัวบ้าน เพื่อเป็นพื้นที่ทำสวนเล็ก ๆข้างบ้าน 
ส่ิงที่เป็นจริงคือ:
  1. หน้าต่างที่เอาออกไป ต้องเอาไปติดตั้งในที่ใหม่ ซึ่งช่างต้องไปติดช่องหน้าต่างที่ใหม่ รวมทั้งต้องเตรียมโครงสร้างรองรับหน้าต่าง เพื่อป้องกันการแตกรั้วของผนังหลังจากติดตั้งหน้าต่างไปแล้ว(ซึ่งบ้านหลังนี้ก่อผนังด้วยอิฐบล๊อก 6 ซม.ทั้งหลัง) แน่นอน !! ช่างคิดค่าแรงงานในการติดตั้งใหม่ แพงกว่าปกติแน่นอน เพระมีงานป้องกันความเสียหาย ป้องกันฝุ่น ต้องจัดหาพัดลมดูดอากาศ เพื่อให้คนในบ้านสามารถพักอาศัยได้หลังจากเลิกงานแล้ว
  2. งานทาสีใหม่ ช่วงต้องทำการลอกสีใหม่ทั้งหมดออกไปก่อน แล้วจึงจะทาสีรองพื้นก่อน แล้วจึงจะสามารถทาสีใหม่ทับได้ ซึ่งสีรองพื้นปูนเก่าจะมีราคาแพงกว่ารองพื้นปูนใหม่..
  3. งานปูกระเบื้อง ช่างสามารถปูกระเบื้องใหม่ทับกระเบื้องเก่าได้เลย ซึ่งฟังดูแล้วน่าจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่ความเป็นจริงแล้ว ปูกาวปูกระเบื้องใหม่ทับกระเบื้องใหม่ มีราคาแพงมาก ซึ่งเฉลี่ยแล้ว ปูนชนิดนี้มีราคาประมาณ 700-900 บาท / ถุง ซึ่งถุงหนึ่งจะปูได้ประมาณ 3 ตารางเมตรกว่าๆ เท่านั้น (ถึงแม้ว่าข้างถุงจะระบุไว้ว่าปูได้ถึง 5 ตารางเมตร) หมายความว่า ค่าวัสดุของงานปูกระเบื้องใหม่ จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 300 บาท / ตารางเมตร ซึ่งแพงกว่างานกระเบื้องธรรมดามากๆ
ดังนั้น การที่เราจะทำการซ่อมแซม หรือต่อเติมบ้านใหม่ เราต้องคำนึงถึงส่ิงเหล่านี้ด้วยนะครับ อย่าคิดเอาเองว่า มันควรจะประมาณนี้ แล้วจ้างช่างรายวันมาทำไปเรื่อยๆ โดยที่เรารู้งบประมาณอยู่คนเดียว ซึ่งกรณีนี้ส่วนมากจะเกินงบที่คิดไว้ในใจ (มากกกก) ทางที่ดี ให้ช่างผู้รับเหมาเข้ามาตีราคาเป็นงานเหมารวมไปเลย โดยตกลงขอบเขตงาน และเงื่อนไขการว่าจ้างให้ดี แล้วทำสัญญาเป็นกิจจะลักษณะ จะดีกว่าครับ อย่างหลังนี้ เราจะรู้งบประมาณที่แน่นอน ชัดเจน หากเกินงบที่คิดไว้ในใจ ก็หยุดไว้ก่อน หรือหางบเพิ่มเติม แต่ควรจะมีราคาเปรียบเทียบจากช่างอย่างน้อย 2 - 3 รายนะครับ หรือให้ปรึกษาวิศวกรที่เรารู้จักและไว้วางใจก่อนตกลงว่าจ้าง ก็จะเป็นการดีมากครับ !!!